ในครั้งที่แล้วผมได้พาทำหัวไชเท้าดองหวานเกาหลีกันไปแล้ว วันนี้ผมจะพาทุกคนมาทำอีกหนึ่งเครื่องเคียงเกาหลี ที่เป็นที่นิยมกันอย่างมากนั้นก็คือหัวไชเท้าดองสีเหลืองเครื่องเคียงเกาหลีชั้นเลิศ ทำได้เองที่บ้าน อร่อยมากๆไม่แพ้กันเลยครับ ทำได้ง่ายๆ ทำเองได้เลย
ดูวิธีทำหัวไชเท้าดองสีเหลือง กดคลิกที่คลิปด้านล่างได้เลยครับ
สารบัญ
ส่วนผสม
– หัวไชเท้า 2 หัว
– น้ำตาลทรายแดง 500 กรัม
– เม็ดพริกไทยดำ 20 เม็ด
– ใบกระวาน 1-2 ใบ
– เม็ดเก๊กฮวย หรือเม็ดพุดจีน 20 เม็ด
– เกลือ 30 กรัม
– น้ำเปล่า 600 มิลลิลิตร
– น้ำส้มสายชู 300 มิลลิลิตร
– โหลแก้ว 2 โหล (สำหรับใช้ดอง)
วิธีทำ
1.) นำเม็ดเก๊กฮวย หรือเม็ดพุดจีน 20 เม็ดมาทุบให้ละเอียด
2.) จากนั้นก็ตั้งหม้อเปิดไฟ แล้วเทน้ำเปล่า 600 มิลลิลิตรลงไปต้มให้เดือด
3.) แล้วใส่เม็ดเก๊กฮวยที่ทุบละเอียดแล้วลงไปต้ม ต้มให้ได้สีเหลืองเข้มของน้ำเก๊กฮวยเลยนะครับ
4.) เมื่อเสร็จแล้วก็ปิดแก๊ส แล้วนำน้ำที่ต้มเม็ดเก๊กฮวยของเราไปกรองเศษออกให้หมด
5.) จากนั้นนำเอาน้ำต้มเม็ดเก๊กฮวยที่เรากรองแล้วมาตั้งไฟใหม่อีกรอบครับ
6.) ใส่น้ำตาลทรายแดงลงไป 500 กรัม ตามด้วยเกลือลงไป 30 กรัม
7.) เม็ดพริกไทยดำประมาณ 20 เม็ด ต่อด้วยใบกระวาน 1-2 ใบ แล้วคนไปเรื่อยๆจนกว่าน้ำตาลทรายแดงจะละลาย
8.) แล้วต้มให้เดือดจัดอีกรอบนึง แล้วก็ปิดแก๊สได้เลยครับ
9.) จากนั้นก็ใส่น้ำส้มสายชูลงไป 300 มิลลิลิตร คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน แล้วพักทิ้งไว้ให้เย็นตัวครับ
10.) ระหว่างรอน้ำดองเย็นตัว ก็นำหัวไชเท้า 2 หัวมาปอกเปลือก และล้างน้ำให้สะอาด
11.) แล้วก็นำมาหั่นได้เลยครับ เราจะหั่นเป็นแบบแผ่น และแบบแท่งนะครับ หั่นเป็นชิ้นพอดีๆ ไม่บาง และไม่หนาจนเกินไปครับ
12.) หลังจากนั้นเราก็นำหัวไชเท้าที่หั่นแล้วมาใส่โหลได้เลยครับ
13.) จากนั้นต่อด้วยนำน้ำดองที่เย็นตัวแล้ว มาเทใส่โหลที่ใส่หัวไชเท้าได้เลยครับ
14.) แล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นประมาณ 5-7 วัน ก็จะได้หัวไชเท้าดองสีเหลืองแล้วครับ
เคล็ดลับความอร่อยที่สำคัญ
เคล็ดลับที่ 1 ถ้าหากกลัวว่าหัวไชเท้านั้นจะมีรสขม สามารถนำมาถูกับเกลือไว้สักพัก แล้วก็ล้างออกได้เลยครับ และแนะนำหั้นหัวไชเท้าไม่ต้องหนาจนเกินไปครับ เพื่อให้น้ำดองนั้นซึมเข้าเนื้อได้ดีกว่า แต่ถ้าหากหั่นหนาไปแล้ว ก็อร่อยเหมือนกันครับ แต่จะใช้ระยะเวลาในการดองที่นานขึ้น
เคล็ดลับที่ 2 หากไม่มีโหลแก้วสามารถเปลี่ยนไปใช้เป็นกล่องแทนก็ได้นะครับ แต่ภาชนะที่ใช้ดองนั้นควรจะมีฝาปิดมิดชิดครับ
หัวไชเท้าดองสีเหลือง คืออะไร
หัวไชเท้าดองสีเหลือง หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ทันมูจิ" ในเกาหลี มักนำมาทานเป็นเครื่องเคียง หรือนำมาทานคู่กับซูชิ และคิมบับ หรือบางคนก็นำมา 2-3 ชิ้นหลังมื้ออาหารหลักเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร
หัวไชเท้าดองสีเหลือง ทำโดยการหมักหัวไชเท้า (daikon) ในน้ำส้มสายชู และเกลือ กระบวนการหมักทำให้เกิดรสเปรี้ยว และมีสีเหลือง หัวไชเท้าดองใช้เป็นเครื่องปรุงรสหรือเป็นอาหารว่าง
ประโยชน์ที่ได้รับจากหัวไชเท้าดองสีเหลือง
หัวไชเท้าดองสีเหลืองนี้ทำมาจากส่วนผสมจากธรรมชาติ ชาวเกาหลีหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีต่อสุขภาพ ดีต่ออาการนอนไม่หลับ ดีซ่าน และต้านการอักเสบต่างๆ
เนื่องจากตัวของหัวไชเท้าที่เรานำมาดองนั้นมีประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยให้ระบบทางเดินหายใจให้สะอาด ช่วยขับเสมหะ และช่วยในเรื่องของระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
หัวไชเท้าดองสีเหลืองกินกับอะไรดี
คนเกาหลีนิยมกินหัวไชเท้าดองสีเหลือง เป็นเครื่องเคียงกับอาหารต่างๆ เพื่อแก้เลี่ยน แถมยังช่วยทำให้เจริญอาหารมากขึ้นอีกด้วย
กินคู่กับเมนูไหนๆก็อร่อยมากๆ ไม่ว่าจะเป็น จาจังเมียน รามยอน ไก่ทอด เนื้อย่าง หรือนำมาทำคิมบับ ข้าวปั้นเกาหลี ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันครับ รับรองว่าอร่อยมากๆ
หรือคลิกลิงก์ด้านล่างเพื่อดูเมนูอาหารเกาหลีได้เลยครับ
ฟรี ! สูตรอาหารเกาหลีแบบจัดเต็ม
รวมสูตรอาหารเกาหลีหลากหลายประเภท ทั้งเครื่องเคียง จานหลัก และของหวาน พร้อมเคล็ดลับการทำอาหารเกาหลีมากมาย จากเชฟมืออาชีพ
หัวไชเท้าดองสีเหลืองในภาษาอื่นๆเรียกว่าอย่างไร
หัวไชเท้าดองสีเหลือง ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Yellow pickled radish ส่วนในเกาหลีจะเรียกว่า 단무지 (dan-mu-ji) อ่านว่า ดัน-มู-จิ หรือ ทัน-มู-จิ ครับ
“ทัน” (단) ในภาษาเกาหลีนั้นแปลว่า “หวาน”
ส่วน “มูจิ” (무지) ในภาษาเกาหลีแปลว่า “ไชเท้าดอง”
พอนำมารวมกันแล้วก็จะได้เป็น “ทันมูจิ” ไชเท้าดองหวานนั้นเองครับ
สรุป
• หัวไชเท้าดองสีเหลืองเป็นเครื่องเคียงเกาหลีที่ทานได้กับหลายเมนู ทำได้เองที่บ้าน อร่อย ทำได้ง่ายๆ
• หัวไชเท้าไม่ควรหั่นหนามาก เพื่อให้น้ำดองนซึมเข้าเนื้อได้ดี หากหั่นหนาจะใช้ระยะเวลาในการดองนานขึ้น
• หัวไชเท้าดองสีเหลือง ช่วยแก้เลี่ยน ทำให้เจริญอาหารมากขึ้น กินคู่กับเมนูไหนๆก็อร่อย
• หัวไชเท้าดองสีเหลืองในเกาหลีจะเรียกว่า 단무지 (dan-mu-ji) อ่านว่า ดัน-มู-จิ หรือ ทัน-มู-จิ
Chef OJ
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำอาหาร ประสบการณ์การเป็นเชฟมืออาชีพมากกว่า 10 ปีในประเทศออสเตรเลีย Chef | Recipes | Cooking